เทคโนโลยี vs โครงสร้างพื้นฐาน

คำเตือน (ตัวเอง) โพสต์นี้อาจจะเรียกแขก

อายุโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนน สะพาน บลา ๆ มีความแตกต่างกัน หลายอย่างอายุสั้น หลายอย่างควรจะอายุยาว มีปัจจัยภายในภายนอกที่ส่งผลต่ออายุ

วันนี้อยากเล่าถึงพวกสะพานคอนกรีตที่เพิ่งเป็นข่าวไปเร็ว ๆ นี้ว่าตั้งแต่ทำโดรนมาแล้วมีคนอยากได้โดรนไปสำรวจโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นหรือไม่

คำตอบง่าย ๆ คือ เพียบ แต่แทบจะไม่ได้ไปต่อสักอัน

ทำไม?

ถ้าเป็นตอนทำ HiveGround ใหม่ ๆ ทำโดรนตัวแรก ๆ จะไปโวยวายเรื่อง โหย GPS ทำงานใต้สะพานไม่ได้ โดรนจะหลบสะพานยังไง อยากได้ภาพละเอียดมากกกก โดยไม่คุยกันว่าจะเอาไปดูอะไร แล้วก็ไปจบที่ไม่ได้ไปต่อ

แต่หลังจาก ฟัง คุย และถาม ไปจนข้อจำกัดทางเทคนิคแทบหมดไปแล้ว (~6+ ปี) ก็พบว่าความจริงมันซ่อนอยู่ในรายละเอียดอื่น ๆ

1) โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างเป็นสัมปทาน แปลว่าคนสร้างสามารถ “สร้างเท่าที่จำเป็น” และดูแล “เท่าที่ต้องทำ” ได้ พอครบเวลาก็ส่งคืนในสภาพพอดี ๆ

2) โครงสร้างหลายอย่างเป็นงบท้องถิ่นหรืองบทที่ไม่ต่อเนื่องทำให้ต้อง “ทำเท่าที่ทำได้” และคนที่เกี่ยวข้องมีความสุข (แบบไหนแล้วแต่กรณี)

3) ถ้าลองสังเกตโครงสร้างพื้นฐานที่มีการเก็บค่าใช้งานจริงจังมักจะอยู่ในสภาพดี และยิ่งถ้าเก็บแพงหรือปรับค่าใช้งานตามค่าเงินก็จะค่อนข้างดี (เช่น ดอนเมืองโทลล์เวย์)

4) อีกสารพัดที่อาจจะยังไม่รู้

แต่จาก 3-4 ข้อข้างบนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การดูแลรักษาเป็นต้นทุนที่ประกอบด้วย คือ 1) ค่าแรงคน และ 2) อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3) การประมวลผลไปสู่ action ที่ต้องการ 4) ออก action ที่เหมาะสม

การทำงานแบบปัจจุบัน คือ ใช้คนล้วน ๆ ร่วมกับอุปกรณ์เสริม เช่น 1) การโรยตัวตรวจรอยแตก 2) การมุด ๆ สะพานถ่ายรูป 3) นั่งรถกระเช้าไปดูท้องสะพาน และอีกสารพัดการทำงานที่ทั้งเสี่ยงและอันตราย

ความพีดมันอยู่ตรงที่ คุยไปคุยมาคุยมาก็คุยไป แล้วก็ได้เห็นค่าจ้างเหมาตรวจสภาพโครงสะพานยาวเป็นร้อย ๆ เมตรอันหนึ่งที่ใช้เวลาร่วม 2 เดือนที่กางราคาออกมาแล้ว ถึงกับต้องหันไปถามพี่ที่เล่าให้ฟังว่า พี่รับงานทำไม

คำตอบ คือ เค้าทำกันมาแบบนี้ ตัดราคากันมาเรื่อย ๆ จนไม่มีคนที่จะทำได้ดี ๆ แล้ว

บอกเลขบอกรายละเอียดคงไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจ คือ ยากมากที่จะเอาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือแบบโดรนไปใส่ เพราะผลและรูปแบบรายงานที่ต้องการหรือยอมรับได้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แก้ตั้งแต่ต้นทาง และที่สำคัญ คือ ฝีมือและคุณภาพของชีวิตของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีมูลค่าต่ำไปกว่าที่ควรจะเป็นมาก

กลายเป็นวงเวียน จน เครียด ดื่มเหล้า ทำให้การปรับปรุงและการดูแลรักษาโครงสร้างให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมทำไม่ได้ดีอย่างที่ควรเพราะไม่มีข้อมูลคุณภาพเบื้องต้นเพื่อการตัดสินใจและวางแผนระยะยาว

และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศไทยพัฒนาก้าวกระโดดในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาสารพัดโครงสร้างอยู่มานานโดยไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่อาจจะขาดการดูแลอย่างที่ควร และเริ่มก่อปัญหาในช่วงนี้พอดี

ถ้ายังไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไร ข่าวแบบพระรามสองน่าจะเดือดขึ้นเรื่อย ๆ

ว่าแล้วก็ทำประกันเพิ่มอีกหน่อยดีมั้ยนะ …

ความน่ากังวลของ Connected Things

เมื่อวานได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์จาก ม เกษตร หลาย ๆ ท่านเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการเกษตรในการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อประกอบการดำเนินโครงการ “การพัฒนานำร่องระบบนิเวศหมู่บ้านดิจิทัลในประเทศไทย” มีการพูดถึงหลาย ๆ หัวข้อที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้งานการใช้ เช่น โดรนฉีดพ่นทางการเกษตร โดรนสำรวจทางการเกษตร ระบบ IoT เครื่องจักรแบบต่าง ๆ รวมถึงแนวทางนโยบายต่าง ๆ ของประเทศจากมุมมองของ startup / คนทำหุ่นยนต์ และประชาชนชาวไทยตัวเล็ก ๆ อีก 1 คน

มีประเด็นหนึ่งที่คุยกับอาจารย์แล้วนำไปสู่ความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้า 1) มีการใช้งานเครื่องจักรอัตโนมัติต่าง ๆ จำนวนมาก 2) เครื่องจักรเหล่านั้นสามารถควบคุมการทำงานหรือสั่งให้หยุดทำงานจากระยะไกลได้ 3) มีการใช้งานเครื่องจักรมากจนแรงงานคนไม่สามารถเข้ามาทำแทนได้

จาก 3 ข้อข้างบนถ้าเกิดเหตุ เช่น 1) สงคราม 2) การล่มของเครือข่าย internet 3) GPS ล่มทั่วโลกที่อาจจะเกิดจาก Solar Activities

แล้วประเทศนั้นใช้โดรนหรือเครื่องจักรอัตโนมัติทำงานแทนคนเพื่อเลี้ยงคนในประเทศได้เป็นอย่างดี (ประสิทธิภาพสูงและดีมาก) ทำให้ผลิตต่อพื้นที่สูงใช้แรงงานน้อย

แล้วเครื่องจักรทำงานไม่ได้หรือทำเกษตรไม่ได้ดื้อ ๆ เลย

เราจะอดตายกันหรือไม่ จะอยู่รอดได้หรือไม่ จะมีทางป้องกันหรือไม่

ตัวอย่างที่ชัดเจนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น 1) ทหารรัสเซียขโมยเครื่องจักรเกษตรไปจากยูเครนแล้วใช้ไม่ได้เพราะโดนตัดระบบ (ถ้าเครื่องจักรต้องคุยกับ server ก่อนเริ่มงานหรือต้อง check-in ทุก ๆ อาทิตย์แล้วประเทศโดนตัดเน็ต) 2) ศรีลังกาที่อยู่ ๆ ก็เปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์แล้วผลผลิตตกต่ำจนประชาชนอดอยาก (จริง ๆ คือไม่มีเงินซื้อปุ๋ย – สงครามทำให้ไม่มีปุ๋ย)

ประเทศที่พึ่งพาเทคโนโลยีและทรัพยากรต้นน้ำจากต่างประเทศหนัก ๆ โดยไม่มีแผนสำรองที่ดี หรือไม่เตรียมความพร้อมให้ตัวเองอาจจะไม่ได้ไปต่อ

แล้วประเทศเราเตรียมอะไรไว้บ้าง ?

น่าจะต้องหาคำตอบต่อไปและหวังว่าจะไม่สายเกินไปที่จะเริ่มตอนนี้ถ้ายังไม่ได้เริ่ม …