ความน่ากังวลของ Connected Things

เมื่อวานได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์จาก ม เกษตร หลาย ๆ ท่านเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการเกษตรในการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อประกอบการดำเนินโครงการ “การพัฒนานำร่องระบบนิเวศหมู่บ้านดิจิทัลในประเทศไทย” มีการพูดถึงหลาย ๆ หัวข้อที่เกี่ยวข้องและความเป็นไปได้งานการใช้ เช่น โดรนฉีดพ่นทางการเกษตร โดรนสำรวจทางการเกษตร ระบบ IoT เครื่องจักรแบบต่าง ๆ รวมถึงแนวทางนโยบายต่าง ๆ ของประเทศจากมุมมองของ startup / คนทำหุ่นยนต์ และประชาชนชาวไทยตัวเล็ก ๆ อีก 1 คน

มีประเด็นหนึ่งที่คุยกับอาจารย์แล้วนำไปสู่ความกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้า 1) มีการใช้งานเครื่องจักรอัตโนมัติต่าง ๆ จำนวนมาก 2) เครื่องจักรเหล่านั้นสามารถควบคุมการทำงานหรือสั่งให้หยุดทำงานจากระยะไกลได้ 3) มีการใช้งานเครื่องจักรมากจนแรงงานคนไม่สามารถเข้ามาทำแทนได้

จาก 3 ข้อข้างบนถ้าเกิดเหตุ เช่น 1) สงคราม 2) การล่มของเครือข่าย internet 3) GPS ล่มทั่วโลกที่อาจจะเกิดจาก Solar Activities

แล้วประเทศนั้นใช้โดรนหรือเครื่องจักรอัตโนมัติทำงานแทนคนเพื่อเลี้ยงคนในประเทศได้เป็นอย่างดี (ประสิทธิภาพสูงและดีมาก) ทำให้ผลิตต่อพื้นที่สูงใช้แรงงานน้อย

แล้วเครื่องจักรทำงานไม่ได้หรือทำเกษตรไม่ได้ดื้อ ๆ เลย

เราจะอดตายกันหรือไม่ จะอยู่รอดได้หรือไม่ จะมีทางป้องกันหรือไม่

ตัวอย่างที่ชัดเจนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เช่น 1) ทหารรัสเซียขโมยเครื่องจักรเกษตรไปจากยูเครนแล้วใช้ไม่ได้เพราะโดนตัดระบบ (ถ้าเครื่องจักรต้องคุยกับ server ก่อนเริ่มงานหรือต้อง check-in ทุก ๆ อาทิตย์แล้วประเทศโดนตัดเน็ต) 2) ศรีลังกาที่อยู่ ๆ ก็เปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์แล้วผลผลิตตกต่ำจนประชาชนอดอยาก (จริง ๆ คือไม่มีเงินซื้อปุ๋ย – สงครามทำให้ไม่มีปุ๋ย)

ประเทศที่พึ่งพาเทคโนโลยีและทรัพยากรต้นน้ำจากต่างประเทศหนัก ๆ โดยไม่มีแผนสำรองที่ดี หรือไม่เตรียมความพร้อมให้ตัวเองอาจจะไม่ได้ไปต่อ

แล้วประเทศเราเตรียมอะไรไว้บ้าง ?

น่าจะต้องหาคำตอบต่อไปและหวังว่าจะไม่สายเกินไปที่จะเริ่มตอนนี้ถ้ายังไม่ได้เริ่ม …