ปลูกปาล์มยังไงให้ได้ 7 ตันต่อไร่ต่อปี

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 (2022) ที่ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมของจังหวัดสุราษฎร์ธานีชวนไปพูดเกี่ยวกับการทำเกษตรแม่นยำจากมุมมองของ Startup กับงานที่บริษัททำอยู่

เลยโชคดีได้ฟังพี่อรรณพและพี่โสฬสตามรูปด้านล่างมาแชร์เรื่องการทำปาล์มของพี่โสฬสว่าทำอย่างไรใช้ชนะค่าเฉลี่ยของประเทศโลกที่อยู่ที่ประมาณ​ 3 ตันต่อไร่ต่อปีได้มากว่า 2 เท่าอยู่ที่ 6-7 ตันต่อไร่ต่อปีได้ต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2557 ผ่านทั้งช่วงแล้งและฝนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ฟังแล้วบอกได้เลยว่าเปิดกระโหลกมากและคิดว่าแชร์เรื่องพี่โสฬส (ชื่อพี่เค้าเท่ขึ้น 10x หลังจากฟังสิ่งที่พี่เค้าทำ) ก่อนจะเล่าเรื่องตัวเองจะดีกว่า 555

จะเปลี่ยน ความเล็ก เป็น จุดแข็ง ได้อย่างไร คือ สิ่งได้จากพี่ทั้งสองท่าน

ประกาศเชิญชวนไปฟังพี่ ๆ idol ด้านการเกษตร

ก่อนอื่นก็เริ่มจากดูกันจะ ๆ ก่อนเลยว่าค่าผลิตที่ได้ของพี่โสฬสและค่าเฉลี่ยของประเทศและทั้งโลกเป็นเท่าไหร่จากค่าสถิติที่ได้โหลดได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีของทั้งโลกอยู่แถว ๆ 3 ตันที่มาเลเซียที่เป็นผู้ผลิตอันดับสองของโลกที่ทิ้งห่างเรา (ที่ 3 ของโลก)ในเชิงปริมาณแบบไม่เห็นฝุ่นยิ่งถ้าเทียบกับอินโดนีเชียยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ภาพจากหน้า 36 ของ สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปี 2564

ถ้ามาดูภาพของพี่โสฬสที่จดอย่างละเอียดลงสมุดบันทึกที่พี่เค้าพกมาโชว์ในงานด้วย (ไม่ได้ถ่ายรูปตอนอวดมา)​ จะพบว่าชนะ 2+ เท่าต่อเนื่องถ้าเป็นกีฬาก็ต้องบอกว่าทีมคู่แข่งถอดใจแน่นอน แม้ตอนที่บ้านเรามีภัยแล้งรุนแรงก่อน Covid-19 ในปีช่วง 2562-2563 (2019-2020) ก็ทำได้มากกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ภาพแห่งความภูมิใจของพี่โสฬส

ด้วยพื้นที่ประมาณ​ 44 ไร่ที่พี่โสฬสดูแลอยู่สิ่งหนึ่งที่ได้จากการที่พี่อรรณพชวนคุยในแง่มุมต่าง ๆ คนฟัง (ผมคนนึง) รู้สึกได้ถึงความภูมิใจของทั้งเจ้าของสวนและคนที่นำการเล่าเรื่องที่มีสวนเป็นของตัวเอง

หลาย ๆ ภาพที่เห็นใน slide ที่ใช้ในงานมาจากนิตรสารยางปาล์ม ที่มีเว็บไซต์ที่ลงรายละเอียดเชิงปฏิบัติไว้อย่างละเอียด post นี้เลยอยากแชร์ในมุมของคนนอกที่ไปนั่งฟัง มืออาชีพ ที่ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยมาก ๆ เล่าเรื่องให้ฟังแล้วอยากสังเคราะห์ออกมาเป็น 3 ประเด็นที่น่าสนใจและคิดว่าจะไปประยุกต์ได้กับอีกหลายเรื่องที่กำลังเจอในชีวิต

1. ความชอบ (passion) เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเปลี่ยนเป็นความเป็นมืออาชีพให้ได้ถ้าจะเอาดีกับมันจริง ๆ คือสิ่งที่พี่โสฬสเล่าให้ฟังว่าตอนแรกก็ไม่ได้ทำปาล์มแต่ก็มีจุดเปลี่ยนให้เริ่มทำแล้วมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของปาล์มเกิดความสนใจและอยากเรียนรู้นำไปสู่การตั้งเป้าหมายและสู้กับตัวเองและสร้างระเบียบวินัยต่าง ๆ ขึ้นมาทำให้ตัวเองต้องคิดทุกวันว่าวันนี้จะทำอะไรให้สวนตัวเองดีขึ้นปัญหาอะไรที่ต้องแก้ ตัวอย่างในรูปข้างล่างคือหลักฐานหนึ่งที่สำคัญ

ตัวอย่าง ภาพความเป็นระเบียบและรายละเอียดต่าง ๆ เช่นการปูทางใบบนพื้นเพื่อให้ย่อยสลายเป็นฮิวมัส (humus) ของสวนพี่โสฬสที่ไม่ได้เห็นในสวนอื่น ๆ ที่เคยไปมา

2. ความอดทน ในการเรียนรู้และสังเกตสิ่งที่เร่งเวลาไม่ได้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและควบคุมมันให้ได้ รูปด้านล่าง คือ วงจรการสร้างทะลายของปาล์มที่มีหน่วยนับเป็นเดือนที่ต้องรอมาก่อน 3 ปีกว่าจะเริ่มเข้าจัดหวะที่นับได้ด้วยความเร่งรีบของโลกวันนี้หลาย ๆ คนก็คงเลิกคิดไปนานแล้วว่าจะเรียนยังไงนานขนาดนั้น และถ้ารู้ว่าปลูกแล้วต้องอยู่กันไปอีก 25 ปีอาจจะยิ่งถอดใจ แต่สิ่งที่น่าประทับใจกว่านั้น คือ รูปที่เห็นเป็นรูปที่อยู่ในตำราเกี่ยวกับการปลูกปาล์มแทบทุกเล่ม แต่น่ามีน้อยคนมากที่จะทำไปถึงขั้น 1) กำหนดเพศของดอกให้ได้เพศเมียเยอะ ๆ 2) เพื่อนำไปสู่จำนวนทะลายเฉลี่ยที่ดี (2x ของค่าปรกติคุ้น ๆ มั้ย)​ และ 3) เก็บเกี่ยวอย่างมีชั้นเชิงให้ได้ผลที่สุกพอดีกับจังหวะการตัดให้คุ้มค่ากับที่เตรียมตัวกันล่วงหน้าอย่างน้อย ๆ 2 ปี โดยไม่สนใจคำบอกเล่าหรือความเชื่อของคนหมู่มาก

ภาพที่พี่ ๆ เค้าบอกว่ามีอยู่ในทุกตำรา

3. การคิดแบบวิทยาศาสตร์ ด้วยการสังเกตและทำความเข้าใจพื้นที่ของตัวเองอย่างลึกซึ้งพี่โสฬสเล่าหลาย ๆ เรื่องให้ฟังจากมุมมองของคนทำจริงที่บอกได้เลยว่าลึกซึ้งและหลาย ๆ เรื่องยากมากในมุมวิทยาศาสตร์ เช่น ที่ของพี่โสฬสเป็นดินเปรี้ยวความเป็นกรดสูง (pH เคยวัดได้ถึง 3 กว่า) จะทำอย่างไรให้พืชยังสามารถดูซึมปุ๋ยได้เป็นความท้าทายที่ต้องใช้ทั้งความเข้าใจเคมีและกายภาพพืชในการที่จะให้ธาตุที่มีประจุต่าง ๆ กันช่วยนำพาสารอาหารไปสู่ลำต้นได้อย่างที่ต้องการ (ไม่สามารถอธิบายได้เพราะจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด)​ หรือการให้นำอย่างถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลิตนอกฤดูกาลที่ประยุกต์จากรูปด้านบน

ตัวอย่างภาพการให้น้ำเพื่อให้ปาล์มออกผลในนอกฤดูการหลักทำให้สามารถขายผลิตได้ในช่วงที่ความต้องการสูงและได้ราคาดีคุ้มกับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม

จากที่เขียนมา 1) ความชอบ 2) ความอดทน 3) ความเป็นวิทยาศาสตร์ และแง่มุมอื่นที่นำไปสู่ความเป็นมืออาชีพของพี่โสฬสเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของมืออาชีพที่ตั้งใจทำทุกอย่างอย่างมีระเบียบวินัยและมีการตรวจสอบปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอน และจิตใจที่ดีนำไปสู่การสอนการเล่าเรื่องที่ยิ่งทำให้ feedback loop เข้มข้นขึ้นไปอีกทำให้และพลักให้ตัวพี่เค้าไปอยู่แถวหน้าของวงการ (เชื่อแบบนั้นเลยจาก fanclub ที่มาฟังทำให้ session ของข้าพเจ้าได้ผลบุญไปด้วยแต่ไว้ค่อยมาเล่า)

จากเรื่องของพี่โสฬส จะเห็นว่า เกษตรแม่นยำทำได้จริง ทำด้วยคนได้ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีไฮเทคแต่ต้องการความเป็นวิทยาศาสตร์ อดทน และระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามคนก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ ที่ทำคนเดียวได้ในพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้ยากที่จะเลียนแบบตรงไปตรงมาให้ประสบความสำเร็จในเกษตรเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถ้าไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวที่เหมาะสม (มีต่อใน post ถัดไป)